วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

คุณธรรมจริยธรรม ความเป็นครู



คุณธรรมจริยธรรม ความเป็นครู






คุณธรรมจริยธรรมสำหรับครู
ในความหมายของปรัชญาจัดว่าเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญา
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้ เมื่อบุคคลได้เกิดความสนใจและใฝ่หาความรู้จากวิชาปรัชญาก็ย่อมได้รับอัตถประโยชน์อย่างมากมาย พอสรุปได้ดังนี้
1. ปรัชญาสอนให้รู้จักความจริงอันสิ้นสุด เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่
2. ปรัชญาสอนให้รู้จักทฤษฎีแห่งความรู้ เช่น การวิจัยจะนำไปสู่การค้นหาคำตอบได้
3. ปรัชญาสอนให้รู้จักความดีและความถูกต้อง เช่น การทำประโยชน์ให้แก่สังคมถือว่าเป็นความดี
4. ปรัชญาสอนให้รู้จักความงาม เช่น การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของสังคม อันก่อให้เกิดความเพลิดเพลินและเป็นสุขใจ
5. ปรัชญาสอนให้เกิดอุดมคติในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่การงาน เช่น สอนให้บุคคลเป็นครูในอุดมคติ หรือเป็นครูที่มีอุดมการณ์ที่จะช่วยพัฒนาชนบทอย่างแท้จริง
6. ปรัชญาสอนให้รู้จักประเมินคุณค่าในพฤติกรรมของบุคคลว่าถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่
ดังได้กล่าวแล้วว่า ปรัชญาเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่คาดหวังเอาไว้ สำหรับคุณธรรมคุณงามความดีของบุคคลที่กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยมีเป้าหมายว่าเป็นการกระทำความดี หรือเป็นพฤติกรรมที่ดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม
ดังนั้น คุณธรรมสำหรับครู ก็คือคุณงามความดีของบุคคลที่เป็นครู ซึ่งได้กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยมีเป้าหมายว่าเป็นการกระทำความดี หรือเป็นพฤติกรรมทีดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น ครูที่มีความเสียสละ ครูที่มีน้ำใจงาม ครูที่มีความเกรงใจ ครูที่มีความยุติธรรม ครูที่รักเด็กและรักเพื่อนมนุษย์ ครูที่มีความเห็นอกเห็นใจลูกศิษย์ และครูที่มีมารยาทที่งดงามถือว่าเป็นครูที่มีคุณธรรมทั้งสิ้น
โดยหลักการ ครูจะต้องเป็นทั้งนักปราชญ์ และผู้ทรงศีล เพราะสังคมได้ยกย่องให้ครูเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ประเสริฐและประสาทความรู้ สร้างความเป็นคนและอบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นเด็กที่ดีของสังคม ความจำเป็นที่จะต้องให้ครูเป็นทั้งนักปราชญ์ และผู้ทรงศีลดังกล่าวแล้วชี้ให้เห็นว่า ความเป็นนักปราชญ์ของครูนั้น ครูจะต้องมีความดีและถ่ายทอดดี สอนให้เด็กได้รับความรู้และสนุกมีชีวิตชีวา ส่วนความเป็นผู้ทรงศีลของครู ในฐานะที่ครูเป็นแม่แบบของชาติหรือเป็นต้นแบบในพฤติกรรมทั้งปวง จะช่วยให้ครูเป็นคนดี วางตัวดี เป็นที่เคารพและเป็นที่น่าเชื่อฟังของลูกศิษย์ จึงกล่าวได้ว่า ครูต้องมีคุณธรรม หรือคุณธรรมสำหรับครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าครูจำเป็นต้องมีคุณธรรม แต่คุณธรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอครูต้องเป็นนักปรัชญาด้วย การเป็นนักปราชญ์ของครูจะช่วยให้ครูมีความรู้รอบ และรอบรู้ มีทัศนะกว้างไกลและลึก มองเห็นชีวิตของตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างทะลุปุโปร่ง และช่วงมองอนาคตของเด็กให้ทะลุปุโปร่งด้วย เพื่อจะได้ประคับประคองสนับสนุน และส่งเสริมให้เด็กเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มที่
จึงสรุปได้ว่าปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นครูเปรียบเสมือนกับโลหะธาตุที่มีเนื้อธาตุดี ย่อมเป็นโลหะที่ดี เช่นเดียวกันถ้าครูมีปรัชญาและคุณธรรมก็จะได้รับความยกย่องว่า เป็นครูดีของสังคมได้ (สงวน สุทธิ์เลิศอรุณ 2536:20–21)

หลักคุณธรรมสำหรับครู 
ผู้บริหารการศึกษา ครูอาจารย์ อยู่ในฐานะที่เป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียน นักศึกษา การที่ศิษย์จะเคารพนับถือและมีความศรัทธาต่อครูอาจารย์ของตนนั้น ครูอาจารย์ต้องมีคุณธรรมเป็นปัจจัยสำคัญ
คุณธรรม 4 ประการ 
ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดี
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความเชื่อ และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้มีความเจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว และจะช่วยใช้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังความประสงค์ ครู อาจารย์เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ควรถือปฏิบัติตามหลักคุณธรรมดังกล่าวเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ สถาบันวิชาชีพครูจะได้มีความเจริญก้าวหน้า สังคมและประเทศไทยจะได้มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
นอกจากหลักธรรม 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว ผู้บริหาร ครู อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในสถาบันการศึกษา ยังต้องประพฤติและปฏิบัติตามหัวข้อธรรมดังกล่าว เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ และนักเรียน อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การเรียนการสอนก็จะต้องจัดตามความมุ่งหมายของรัฐ
การศึกษาตามนัยแห่งแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2520 เป็นกระบวนการต่อเนื่องกันตลอดชีวิต เพื่อมุ่งสร้างเสริมคุณภาพของพลเมืองให้สามารถดำรงชีวิตและทำประโยชน์แก่สังคม โดยเน้นการศึกษาเองสร้างเสริมความอยู่รอดปลอดภัย ความมั่นคงและความผาสุกร่วมกันในสังคมไทยเป็นประการสำคัญ จึงได้กำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาไว้ 9 ข้อ
ความมุ่งหมายของการศึกษา 9 ข้อ เน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่ดีงามของบุคคล เพื่อสร้างเสริมคุณภาพของพลเมือง ซึ่งอาจสรุปเป็น คุณลักษณะของคนไทยที่มีความจำเป็นจะต้องปลูกฝังให้ถึงพร้อมในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
คุณลักษณะของครูที่ดี 10 ประการ
1. ความมีระเบียบวินัย หมายถึง ความประพฤติ ทั้งทางกายและวาจาและใจ ที่แสดงถึงความเคารพในกฎหมาย ระเบียบประเพณีของสังคม และความประพฤติที่สอดคล้องกับอุดมคติหรือความหวังของตนเอง โดยให้ยึดส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว
2. ความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม หมายถึง การประพฤติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบ หรือคดโกงผู้อื่นหรือส่วนรวม ให้ยึดถือหลักเหตุผล ระเบียบแบบแผนและกฎหมายของสังคมเป็นเกณฑ์
3. ความขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาอาชีพ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่ทำให้เสียเวลาชีวิตและปฏิบัติกิจอันควรกระทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม
4. ความสำนึกในหน้าที่และการงานต่าง ๆ รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมและไม่ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สังคม
5. ความเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม วิจารณ์และตัดสินอย่างมีเหตุผล หมายถึง ความประพฤติในลักษณะสร้างสรรค์และปรับปรุงมีเหตุมีผลในการทำหน้าที่การงาน
6. ความกระตือรือร้นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความรักและเทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง ความประพฤติที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในการอยู่ร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของสังคมให้มากที่สุด
7. ความเป็นผู้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หมายถึง ความมั่นคงและจิตใจ รู้จักบำรุงรักษากายและจิตใจให้สมบูรณ์ มีอารมณ์แจ่มใสมีธรรมะอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคง
8. ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีอุดมคติเป็นที่พึ่ง ไม่ไว้วานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่จำเป็น
9. ความภาคภูมิและการรู้จักทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และทรัพยากรของชาติ หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเองและทรัพยากรของชาติ
10. ความเสียสละ และเมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และความสามัคคีกัน หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกถึงความแบ่งปัน เกื้อกูลผู้อื่น ในเรื่องของเวลากำลังกายและกำลังทรัพย์
คุณลักษณะ 10 ประการนี้ เป็นทั้งแนวทางและเป้าหมายในการจัดการศึกษาและอบรมสั่งสอนนักเรียน ของสถานศึกษาทุกระดับและเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษาต้องถือปฏิบัติด้วยเช่นกันผู้บริหารการศึกษาคือผู้ที่เป็นหัวหน้าสถานศึกษา คือ ครู อาจารย์ ผู้อำนวยการ และรวมไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย หรือรองของตำแหน่งผู้บริหารทุกระดับเป็นผู้มีความสำคัญต่อการจัดการและพัฒนาจริยศึกษาในสถานศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะผู้บริหารการศึกษาเป็นทั้งผู้นำและเป็นผู้วางแผนการต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนทั้งหลายได้รู้จักและเข้าใจในหลักจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาในระดับใดดังนั้นผู้บริหารจึงมีคุณธรรมและ
จริยธรรมตามที่กำหนดไว้สำหรับอบรมสั่งสอนนักเรียนนักศึกษาครบทุกข้อโดยเฉพาะคุณธรรมและจริยธรรมเป็นธรรมที่ผู้บริหารทุกคนจะต้องปฏิบัติและตระหนักอยู่ในใจเสมอ คือ
1. การมีความละอายในการทำความชั่ว ทำความทุจริตทั้งปวงและเกรงกลัวและสะดุ้งกลัวต่อความชั่วทั้งปวง ซึ่งคุณธรรมข้อนี้ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบบเรียบร้อยไม่เดือดร้อนวุ่นวาย
2. การมีความอดทน รู้จักอดกลั้นต่อแความยากต่าง ๆ ที่คนอื่นมีต่อตนและมีความสงบเสงี่ยม และความอ่อนน้อมถ่อมตน
3. มีสติสัมปชัญญะเต็มเป็นอยู่ตลอดเวลา รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนสม่ำเสมอ ไม่มีการลืมตัวหรือละเลยต่อหน้าที่ต่าง ๆ
4. รู้จักอุปการะ คือ ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น นึกถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง พร้อมที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้อื่น ในงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ไม่มีอคติในการปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานต่อศิษย์ หรือ นักเรียนและบุคคลอื่น ๆ
5. มีคุณธรรมประจำตน ในการที่ทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จ(อิทธิบาท) 4 ประการมีความพอใจและเอาใจใส่ในหน้าที่การงานของตน มีความพากเพียรในการประกอบการงาน เอาใจใส่ในการงานไม่ทอดทิ้งและหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลและวิธีที่จะทำให้การงานเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ
6. มีคุณสมบัติอันประเสริฐ (พรหมวิหาร) 4 ประการ คือ มีความเมตตา ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความกรุณา สงสาร คิดหาทางให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ มีมุทิตาปราบปลื้มยินดีในความสำเร็จ ความก้าวหน้าของผู้อื่นและมีอุเปกขา ความวางเฉย เห็นอกเห็นใจผู้ได้รับความทุกข์
7. มีคุณธรรมที่เป็นเครื่องผูกน้ำใจผู้อื่นและบุคคลทั่วไป(สังคหวัตถุ) ๔ ประการอยู่เป็นการประจำ คือ ให้ปันสิ่งของแก่บุคคลที่ควรให้ปัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อ แผ่แก่ผู้อื่นตามสมควรแก่กรณี(ทาน) มีวาจาอ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อย(ปิยวาจา) ประพฤติตนเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นและเป็นคนไม่ถือตัวไม่ถือยศศักดิ์ เข้ากันได้กับผู้ร่วมงานทุกคน ตามความเหมาะสมตามฐานะของตน (สมานัตตา)
8. หมั่นศึกษาหาความรู้รอบตัว ให้มีความรอบรู้ เพื่อเป็นผู้ที่ทันต่อเหตุการณ์ บุคคลและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน้าที่การงาน(พาหุสัจจะ)
9. ประพฤติตนให้ห่างจากอบายมุขหรือทางแห่งความเสื่อมต่าง ๆ ไม่กระทำตนให้เป็นผู้เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น ผู้ร่วมงาน หรือนักเรียน นักศึกษาทุกคน และบุคคลทั่วไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น